วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

บทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยต่อพัฒนาการทางภาษา

จากเนื้อหาที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าพัฒนาการของเด็กปฐมวัยเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญมาก ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กในวัยนี้ ควรให้ความสนใจ เพื่อเป็นรากฐานในการนำความรู้ไปใช้ในการส่งเสริมพัฒนาการทางด้านภาษาให้กับเด็กปฐมวัย ซึ่งบุคคลที่สำคัญกับเด็กปฐมวัย ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ตลอดจนครู อาจารย์ที่ทำหน้าที่ให้ความรู้แก่เด็ก ได้เข้าใจและนำความรู้ไปปฏิบัติต่อไป
บทบาทของผู้ปกครองสถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่มีความใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด และมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาทักษะทางด้านภาษาให้กับเด็กเช่นกัน โดยเฉพาะพ่อและแม่ ซึ่งถือว่าเป็นครูคนแรกของชีวิต โดยเด็กจะเรียนรู้ทักษะทางภาษาจากพ่อและแม่ทั้งจากการฟัง และการเลียนแบบการใช้ถ้อยคำต่างๆของบุคคลในครอบครัว ดังนั้น พ่อและแม่จึงควรปฏิบัติตนเพื่อให้เด็กพัฒนาทักษะทางภาษาแต่ละด้าน ดังนี้
1. พ่อแม่ควรพูดให้ชัดเจน ออกเสียงให้ชัด พูดให้ถูกต้อง ไม่ล้อเลียนเด็กโดยการแกล้งพูดไม่ชัด หรือพูดภาษาของเด็ก และควรใช้ภาษาที่ซับซ้อนขึ้นตามลำดับเพื่อความก้าวหน้าทางภาษาของเด็ก
2. พ่อแม่ควรใช้ภาษาให้เหมาะกับวัยของเด็กและควรพูดกับเด็กบ่อยๆ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ จดจำคำศัพท์ได้มากขึ้น
3. พ่อแม่ควรแก้ไขข้อบกพร่องในการออกเสียงของเด็ก ทั้งในด้านการใช้คำและประโยค เพื่อกระตุ้นให้เด็กเลียนแบบแทนการดุว่า ซึ่งอาจทำให้เด็กเกิดความคับข้องใจ ความเครียด และอาจนำไปสู่การพูดติดอ่าง
4. พ่อแม่ควรให้เวลากับเด็กอย่างน้อยวันละประมาณ 15 นาที ในการอ่านหนังสือให้เด็กฟัง โดยมีภาพประกอบ มีการสนทนาซักถามโต้ตอบ
5. จัดสิ่งแวดล้อมให้น่าสนใจ มีมุมหนังสือ หนังสือภาพ หนังสือนิทาน วิทยุและสื่ออื่นๆที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ภาษา สนใจภาษา และมีพัฒนาการทางภาษาดีขึ้น
บทบาทของครูปฐมวัย
เมื่อถึงเวลาเข้าสู่สังคมแห่งการศึกษาในโรงเรียน บุคคลที่มีความสำคัญไม่แพ้ “พ่อ” “แม่” นั่นคือ ครู เนื่องจากเมื่อเด็กเข้าสู่วัยเรียน ครูจะเป็นผู้ที่คอยให้ความรู้และรักษากฎระเบียบ โดย ครูเฉพาะการเป็นตัวแบบที่ดีให้กับเด็ก ซึ่งครูมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ
1. ความรู้ของครู หากครูมีความรู้เกี่ยวกับหลักการและวิธีการพัฒนาทักษะทางภาษาได้ดีก็จะช่วยให้เข้าใจและเลือกวิธีการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะทางด้านภาษาให้เหมาะสมกับระดับวุฒิภาวะ ทำให้การพัฒนาทักษะทางภาษาได้ดี
2. เจตคติของครู หรือความรู้สึกที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะทางภาษา ย่อมแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง แววตา และคำพูดให้เด็กทราบและมองเห็นคุณค่าของการฝึกทักษะต่างๆ นอกจากนี้ครูยังพยายามหาวิธีการสอนและเวลาสำหรับฝึกทักษะให้กับเด็กด้วยความสนใจ เอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ
3. บุคลิกภาพและพฤติกรรมของครู เนื่องจากเด็กสามารถเรียนรู้และเลียนแบบจากครู ดังนั้น หากครูมีบุคลิกภาพโดยเป็นผู้ฟังที่ดี สนใจและตั้งใจฟังที่เด็กพูด เด็กก็จะเป็นคนที่มีมารยาทในการฟังที่ดี มีสมาธิในการฟัง
4. ความสามารถในการใช้ภาษาของครู หากครูมีความสามารถในการเลือกใช้คำ หรือประโยคได้ถูกต้องและเหมาะสม ก็จะเป็นต้นแบบสำหรับเด็กได้
5. การสอนของครู ครูมีบทบาทและหน้าที่โดยตรงในการจัดกิจกรรมให้กับเด็ก ถ้าครูจัดกิจกรรมฝึกทักษะทางภาษาให้เด็กได้ครบตามความมุ่งหมายและประเภทของแต่ละทักษะแล้ว การพัฒนาทักษะทางภาษาก็จะสมบูรณ์และมีประสิทธิผลสูง แต่ถ้าครูฝึกทักษะทางภาษาเพียงด้านใดด้านหนึ่ง แต่ไม่นำทักษะด้านอื่นๆ มาสัมพันธ์หรือบูรณาการเข้าด้วยกัน ก็จะทำให้เด็กขาดทักษะทางภาษาบางด้าน
กล่าวโดยสรุปได้ว่า พัฒนาการทางภาษาของเด็กจะไม่สามารถพัฒนาขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพตามลักษณะของช่วงวัย หากขาดการได้รับการดูแลเอาใจใส่ ตลอดจนการได้รับรูปแบบการสอนในการเพิ่มทักษะทางภาษาที่สำคัญอย่างสม่ำเสมอ จากทางครอบครัวและจากโรงเรียน ซึ่งหากเด็กได้รับการอบรมและเพิ่มพูนทักษะอย่างเหมาะสมก็จะมีพัฒนาการที่สมบูรณ์พร้อมและมีรากฐานที่ดีในการเรียนรู้ทักษะต่างๆของชีวิตต่อไป